8 ส.ค. 2567

ยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิด

การคุมกำเนิด (contraception) หมายถึง การป้องกันการตั้งครรภ์ โดยแบ่งออกเป็นการคุมกำเนิดถาวร ได้แก่ การทำหมัน และการคุมกำเนิดชั่วคราว ได้แก่ ถุงยางอนามัย, ยารับประทาน, ยาฉีด, ยาฝัง และห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น

ยาคุมกำเนิด (Oral contraceptive pills) เป็นวิธีคุมกำเนิดที่บรรจุฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เพราะสามารถซื้อได้ง่าย เมื่อใช้อย่างถูกวิธี พบว่ามีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้เพียงร้อยละ 0.3 แต่จากการใช้งานจริง พบมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ถึงร้อยละ 8 อาจมีสาเหตุจากการลืมรับประทาน หรือรับประทานไม่ถูกต้อง

การออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิด

-             มีผลต่อผนังมดลูก ทำให้ผนังมดลูกบางจนตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้

-            ทำให้มีการตกไข่ หรือมีผลในการยับยั้งกระบวนการก่อนเกิดการปฏิสนธิ (fertilization)

-            ท่อนำไข่เคลื่อนไหวมาก ทำให้ไข่ที่ถูกผสมไม่ทันฝังตัว

-            เกิดมูก หรือเมือกที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกมีความเหนียวข้นส่งผลให้อสุจิเคลื่อนผ่านเข้าไปได้ยากขึ้น

 

ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

-            ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined oral contraceptive pills)

-            ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (progestin only pills)

-            ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills)

1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined oral contraceptive pills)

ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโทรเจนและโปรเจสเทอโรนรวมกันในเม็ดเดียว เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมใช้กันมาก ความแตกต่างของยาคุมกำเนิดแต่ละยี่ห้อจะอยู่ที่ชนิดและขนาดของฮอร์โมนเอสโทรเจน และชนิดของฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนที่เป็นส่วนประกอบ

เอสโทรเจน ที่ใช้ในยาคุมกำเนิดมี 3 ชนิด ได้แก่

1.     Mestranol เป็นเอสโทรเจนสังเคราะห์ที่มีในยาเม็ดคุมกำเนิดรุ่นแรก ซึ่งปัจจุบันไม่มีใช้แล้ว โดย mestranol จะต้องไปสลายที่ตับกลายเป็น ethinyl estradiol ก่อนจึงจะออกฤทธิ์ได้

2.     Ethinyl estradiol (EE) เป็นเอสโทรเจนตัวหลักที่เป็นส่วนประกอบของยาเม็ดคุมกำเนิด และยังใช้ขนาดของ EE ในการจำแนกยาเม็ดคุมกำเนิดออกเป็น

-            High dose pills หมายถึง ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วย EE ในขนาด ≥ 50 ไมโครกรัม ซึ่งไม่มีใช้แล้วในปัจจุบัน เนื่องจากผลข้างเคียงจากการได้เอสโทรเจนในขนาดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อ venous thromboembolism (VTE)

-            Low dose pills หมายถึง ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วย EE ในขนาด 30-35 ไมโครกรัม

-            Very low dose pills หมายถึง ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วย EE ในขนาด ≤ 20 ไมโครกรัม

3.     Estradiol / estradiol valerate เป็นตัวใหม่สุดที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า EE ทั้งในด้าน hemostasis, lipid metabolism และ carbohydrate metabolism

โปรเจสโตรเจน ที่นำมาใช้ในยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นสารสังเคราะห์ให้มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมน โปรเจสเทอโรน มีมากมายหลายชนิด ชนิดของโปรเจสโตรเจนในยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของยาคุมกำเนิดแต่ละยี่ห้อ

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยังแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1.     แบบที่มีฮอร์โมนทั้งสองชนิดเท่ากันทุกเม็ด (monophasic pills) เป็นชนิดที่ประกอบด้วยเอสโทรเจนและโปรเจสโตรเจนในขนาดคงที่เท่ากันทุกเม็ด

2.     แบบที่ฮอร์โมนทั้งสองชนิดไม่เท่ากัน (multiphasic pills) เพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย ที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับเอสโทรเจนและโปรเจสเทอโรน ไม่ได้เท่ากันตลอด โดยอาจเป็น Biphasic pills ที่มีเอสโทรเจนและโปรเจสโตรเจนในปริมาณต่างกัน 2 แบบ หรือ Triphasic pills จะประกอบด้วยเอสโทรเจนและโปรเจสโตรเจนในปริมาณที่ต่างกัน 3 แบบ ทั้งนี้เพื่อลดขนาดของฮอร์โมนให้น้อยที่สุด แต่ยังมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้

ข้อห้ามใช้ของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

-            คนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด (thromboembolism) เช่น deep vein thrombosis (DVT), cerebrovascular disease (CVD) และ coronary artery disease (CAD)

-            คนที่เป็นมะเร็งหรือคาดว่าจะเป็นมะเร็งที่เต้านม หรือ estrogen dependent tumor อื่น ๆ

-            คนที่มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ

-            สตรีตั้งครรภ์

-            ผู้ป่วยโรคตับ

-            ผู้ป่วยโรคไมเกรนชนิดที่มีออร่า จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้

-            ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด ได้แก่ neuropathy, retinopathy เป็นต้น

-            ผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี ที่สูบบุหรี่

วิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดแรกในช่วงวันที่ 1-5 ของรอบเดือน จากนั้นรับประทานยาวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันของทุกวัน โดยควรรับประทานก่อนนอน วิธีการรับประทานยาในกรณียาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ด

 

– แบบ 21 เม็ด (ใน 1 แผงจะมีอยู่ 21 เม็ด ไม่มีแป้งหรือยาหลอก) ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด เวลาเดียวกันทุกวัน โดยรับประทานยาตามลูกศรไปจนครบ 21 เม็ด แล้วหยุดยาเป็นเวลา 7 วัน ในวันที่ 8 รับประทานยาในแผงต่อไปเช่นเดิม (ในช่วง 7 วันที่หยุดยา จะมีประจำเดือนมา แม้ประจำเดือนยังคงมาอยู่หรือหมดไปแล้วก็ตาม เมื่อครบ 7 วัน แล้วให้เริ่มทานยาเม็ดแรกของแผงใหม่ได้เลย)

– แบบ 28 เม็ด (ใน 1 แผง จะมีฮอร์โมนอยู่ 21 เม็ด และอีก 7 เม็ด จะเป็นแป้งเพื่อรับประทานกันลืม) ให้รับประทานทุกวันเช่นกัน ทานให้ตรงเวลากันทุกวันโดยไล่เม็ดไปตามลูกศรและเริ่มแผงใหม่ได้เลยเมื่อหมดแผงเก่า เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมเริ่มยาแผงใหม่

กรณีที่ลืมรับประทานยา

-            ลืมทานยา 1 เม็ด ให้รีบทานยาทันที แต่หากลืมทานยาเกิน 1 วันให้ทานพร้อมกัน 2 เม็ด

-            ลืมทานยา 2 วัน ให้ทานยา 2 เม็ดทันที และให้ทานอีก 2 เม็ดในวันต่อไป ในระหว่างนี้ ให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย 7 วัน

-            ลืมทานยามากกว่า 2 วันขึ้นไป ให้เลิกทานยาแผงนั้นไปเลย และใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นแทน แล้วเริ่มทานยาแผงใหม่ในรอบประจำเดือนต่อไป

ผลข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

-            คลื่นไส้อาเจียน เป็นผลของฮอร์โมนเอสโทรเจนที่อยู่ในเม็ดยา มักเกิดในช่วง 1-2 เดือนแรก ของการรับประทานยา จากนั้นอาการดังกล่าวจะค่อย ๆ น้อยลงและหายไป สามารถลดอาการดังกล่าวได้โดยการรับประทานยาก่อนนอน ถ้ายังไม่หายให้เปลี่ยนยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจนในขนาดต่ำลง

-            คัดตึงเต้านม เป็นผลของฮอร์โมนทั้งสองตัว แก้โดยการเปลี่ยนไปใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีขนาดของฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำลง หรือเปลี่ยนชนิดของโปรเจสโตรเจนที่เป็นส่วนประกอบ โดยแนะนำให้ใช้เป็น drospirenone

-            ปวดศีรษะ เป็นผลของฮอร์โมนทั้งสองตัว แก้โดยการเปลี่ยนไปใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีขนาดของฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำลง หรือเปลี่ยนชนิดของโปรเจสโตรเจนที่เป็นส่วนประกอบ

-            หน้าเป็นฝ้า เป็นผลของฮอร์โมนเอสโทรเจนไปเร่งขบวนการเม็ดสีของการเกิดฝ้าขึ้น ถ้าเริ่มเป็นฝ้า ให้เปลี่ยนยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจนขนาดต่ำลง พร้อมกับการรักษาฝ้าไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้ยากันแดด หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัด ๆ

-            น้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นผลของฮอร์โมนทั้งสองตัว โดยเอสโทรเจนทำให้เกิดการคั่งของน้ำ ในขณะที่โปรเจสโตรเจนทำให้รู้สึกอยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น สามารถแก้โดยการเปลี่ยนไปใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีขนาดของฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำลง หรือเปลี่ยนชนิดของโปรเจสโตรเจน โดยแนะนำให้ใช้เป็น drospirenone

-            เลือดออกกะปริดกะปรอย มักเกิดกับผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแผงแรก ๆ อาจเกิดจากการรับประทานยาไม่ถูกวิธี เช่น ไม่ตรงเวลา หรือลืมรับประทานยา หรืออาจได้รับยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาต้านเชื้อรา, ยากันชัก แก้โดยควรทานยาเวลาใกล้เคียงกันในทุก ๆ วันและไม่ลืมทานยา หากยังมีอาการอยู่ ให้เปลี่ยนไปใช้ยาคุมที่มีขนาดของฮอร์โมนเอสโทรเจนสูงขึ้น

 

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin only pills หรือ minipill)

เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีแค่โปรเจสเทอโรนเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ไม่มีฮอร์โมนเอสโทรเจน อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ เลือดออกกะปริดกะปรอย จึงเหมาะที่จะใช้ในการคุมกำเนิดเฉพาะในรายที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจน รวมทั้งในสตรีให้นมบุตร เพราะไม่กดการสร้างและหลั่งน้ำนม

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวจะมี 28 เม็ดใน 1 แผง และทุกเม็ดจะเป็นฮอร์โมน การเริ่มยาแผงแรก ให้เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดแรกภายใน 5 วันแรกของรอบเดือน จากนั้นรับประทานยาวันละ 1 เม็ดในเวลาเดียวกันจนหมดแผง แล้วทานยาแผงต่อไปทันที ไม่ต้องเว้น แม้จะมีประจำเดือนก็ตาม ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ต้องทานตรงเวลา กรณีที่ทานช้าไป ให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมรับประทานในทันที หลังจากนั้นรับประทานยาเม็ดต่อไปตามปกติ ใช้ถุงยางหรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง

 

3. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraceptive pills)

ใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดระยะยาว เนื่องจากการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากกว่า

ประกอบด้วย โปรเจสโตรเจนขนาดสูง ได้แก่ Levonorgestrel 750 ไมโครกรัมต่อเม็ด ในหนึ่งกล่องจะมี 2 เม็ด วิธีการรับประทานคือ ต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ยิ่งเร็วยิ่งมีประสิทธิภาพดี โดยไม่ควรนานเกินกว่า 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากรับประทานยาเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง ให้รับประทานเม็ดที่ 2 ซึ่งพบว่าบ่อยครั้งที่มักลืมรับประทานยาเม็ดที่ 2 ดังนั้นเพื่อความสะดวก สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินพร้อมกัน 2 เม็ดในครั้งเดียว (รวมเป็น 1.5 มิลลิกรัม) โดยที่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยจะไม่แตกต่างจากการแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง6 อาการข้างเคียงที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, ปวดท้องและเลือดออกผิดปกติในรอบที่รับประทานยา

         

         ยาคุมกำเนิดอาจเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ให้ผลดี แต่ยาคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และค่อนข้างมีผลข้างเคียงมากกว่าการป้องกันด้วยวิธีอื่น ดังนั้นการรับประทานยาคุมควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อความปลอดภัย และป้องกันผลข้างเคียงที่อาจตามมาได้

🍪เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา
กรุณากดยอมรับ คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานคุกกี้ของเราได้ที่ ข้อตกลงและเงื่อนไข และ นโยบายความเป็นส่วนตัว