แนะนำยาที่ควรพกเดินทางไปต่างประเทศ
การพกยาไปต่างประเทศ
ยาที่อนุญาตให้พกติดตัวไปได้ จะต้องนำยาที่อยู่ในแพ็คเกจลักษณะที่ถูกต้องไป หากแกะแยกออกเป็นแผง หรือแยกเป็นเม็ดแล้ว ผู้ตรวจอ่านไม่ทราบว่ายาชนิดนั้นคืออะไร อาจทำให้ไม่สามารถนำเข้าไปได้
ยาที่ถูกห้ามนำเข้าประเทศนั้น ๆ หากเราจำเป็นต้องใช้ยาที่เป็นยาต้องห้ามแล้ว ปรึกษาคุณหมอก็ไม่มียาตัวไหนที่สามารถแทนได้ วิธีการ คือ ให้กรอกแบบฟอร์มขออนุญาตการนำยาเข้าประเทศนั้น และสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ เอกสารการรับรองแพทย์ หากเรามีโรคประจำตัว ยาที่รักษาไม่ใช่ยาสามัญทั่วไป เราควรให้แพทย์เขียนระบุว่า เราเป็นโรคอะไร และจำเป็นต้องใช้ยาอะไรบ้าง
ยาที่ควรพกเมื่อเดินทาง
- ยาสามัญประจำบ้าน ไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ยาแก้ท้องเสีย
- ยาโรคประจำตัว เพื่อให้ไม่ขาดช่วงในการรักษา เช่น ยาสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
กินยาอย่างไร เมื่อเดินทางข้ามเขตเวลา
- ยาที่ออกฤทธิ์สัมพันธ์กับมื้ออาหาร ให้กินยาตามมื้ออาหาร
- ยาที่ไม่ได้ออกฤทธิ์สัมพันธ์กับมื้ออาหาร ให้กินยาโดยยึดตามเวลาของประเทศเดิม หากต้องไปต่างประเทศเป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์ ประจำตัวเพื่อปรับเวลาให้เหมาะสม
การเก็บรักษา
- ยาที่ต้องแช่เย็น ควรใช้อุปกรณ์ให้ความเย็น ขนาดไม่เกิน 100 ซีซี
- เพื่อให้ตรวจสอบได้และคงสภาพความคงตัวของยา ไม่ควรเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของยา
- ยาที่ต้องใช้เข็มฉีดยาร่วมด้วย ควรให้แพทย์เขียนใบรับรองแพทย์ขออนุญาตพกพาอุปกรณ์ ประกอบการฉีดยา
ยาที่จำเป็น และยาที่ถูกห้ามนําเข้าประเทศ
- ปรึกษาแพทย์ว่ามียาตัวใดใช้แทนได้หรือไม่ หากไม่มียาใช้แทน ควรติดต่อสถานทูตเพื่อขออนุญาตนํายาเข้าประเทศ
- มีเอกสารใบรับรองแพทย์ระบุข้อมูลโรค และความจำเป็นในการใช้ยา (ฉบับภาษาอังกฤษ)
- ผู้มีประวัติแพ้ยา แนะนําให้พกบัตรแพ้ยา ติดตัวตลอดการเดินทาง
ยาสามัญประจำบ้านที่เราจะสามารถนำติดตัวไป และควรจะพกไป เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้บ้าง คือ
1. ยาพาราเซตามอล ลดไข้ แก้ปวด เป็นยาสามัญที่ต้องมีติดกระเป๋าไม่ว่าจะเดินทางไปไหน หรือแม้กระทั่งใช้ชีวิตระหว่างวัน แต่ก็ควรระวังเรื่องขนาดของยาที่ใช้
2. ยาแก้เมารถ เมาเรือ ซึ่งยาแก้เมาส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงคือทำให้เกิดอาการง่วงซึม ดังนั้น ควรระวังเรื่องขนาดยา รวมทั้งผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอันตรายระหว่างการท่องเที่ยวที่ต่างประเทศได้
3. ยาแก้แพ้ บางครั้งไปอยู่ต่างแดน ต่างบ้านต่างเมือง เจออะไรแปลก ๆ แล้วเกิดอาการแพ้หรือคันขึ้นมา สามารถกินยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคันได้
4. ยาลดกรด แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง กับเกลือแร่ แก้ท้องเสีย อาหารการกินเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าท้องไส้ไม่คุ้นชินกับอาหารที่ต่างจากที่เคยกินก็อาจเกิดอาการท้องอืด หรือท้องเสียได้ สิ่งที่ควรเตรียมติดกระเป๋าไปด้วย คือ ยาแก้ท้องอืด แก้ท้องเสีย อย่างเกลือแร่ หรือผงถ่านเพื่อลดอาการท้องเสียจะดีที่สุด
5. ยาคลายกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ การนั่งเครื่องนานๆ หรือเดินทางเป็นเวลานานๆ อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขึ้นได้ พกยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อติดกระเป๋าไป ช่วยบรรเทาอาการหนักให้เป็นเบาได้ แต่ข้อควรระวังคือต้องกินหลังอาหารทันทีแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ เนื่องจากยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
6. สเปรย์ไล่ยุง มด แมลง ป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย หากไปแคมป์หรือต้องเดินป่า สามารถพ่นสเปรย์ก่อนล้วงหน้าเพื่อป้องกันได้เลย แนะนำให้พกยาหม่องไปด้วยเพื่อช่วยคลายพิษหากโดนแมลงสัตว์กัดต่อย
7. ชุดปฐมพยาบาล ขณะท่องเที่ยวอาจหกล้ม ขาพลิก โดนกิ่งไม้ เปลือกหอย ของมีคม หรืออุบัติเหตุ การพกชุดปฐมพยาบาลติดไปด้วยก็จะช่วยให้ทำการดูแลแผลเบื้องต้นได้ก่อน ถ้าอาการรุนแรงมากจึงค่อยไปหาหมอเพื่อรักษา
ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว หากรู้ตัวว่าต้องเดินทางไกล ให้ทุกท่านเตรียมตัวในการพกยาไปให้ดี สำหรับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว ยาสามัญทั่วไปก็จำเป็นเช่นกัน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ไม่วิตกกังวลในการหายามารักษาไม่ทัน